การจัดการทางโภชนาการในแมวที่เป็นโรคหัวใจ HCM

Feline hypertrophic cardiomyopathy(HCM) เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในแมว บทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทของโภชนบำบัดที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการจัดการแมวที่เป็น HCM อย่างมีประสิทธิภาพ

  • HCM เป็นโรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในแมว ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวขึ้นและอ่อนแรงลงทีละน้อย
  •  ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคอย่างแน่ชัด มักเกิดจาก myosin-binding protein C mutation ในแมวสายพันธุ์ Maine coon และ Ragdoll
  • การจัดการแมวที่เป็น HCM ยังจำกัดที่ต้องใช้ยาและอาหารร่วมกัน

Nutritional Assessment 

สัตวแพทย์ควรเริ่มจัดการทางโภชนาการตั้งแต่แรกๆเมื่อพบว่าแมวมีอาการของโรคหัวใจ โดยการคงคะแนนสภาพร่างกาย (BCS) ของแมวให้เหมาะสมเพื่อประเมินการได้รับอาหารที่ไม่เพียงพอหรือมากเกินไปและเลี่ยงความไม่สมดุลทางโภชนาการ

Nutritional history 
สัตวแพทย์จำเป็นต้องสอบถามประวัติการได้รับอาหาร ขนมและอาหารเสริม ตลอดจนอาหารปัจจุบันของแมว ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจสื่อถึงความเป็นไปได้ที่จะได้รับอาหารส่วนเกิน เช่น ปัจจุบันแมวกินอาหารประกอบการรักษาโรคหัวใจ แต่อาจได้รับปริมาณโซเดียมเกินจากขนมหรืออาหารอื่นๆ รวมทั้งสอบถามเจ้าถึงวิธีการป้อนยา เช่น การใช้อาหารโซเดียมสูงเพื่อซ่อนเม็ดยาในการป้อน

Body composition 
สัตวแพทย์ควรทำการประเมิน BCS อย่างน้อยทุกสัปดาห์ โดยสอนเจ้าของประเมินตัวชี้วัดนี้และรายงานผลต่อสัตวแพทย์เพื่อใช้ประกอบการรักษาและติดตามคุณภาพชีวิตของแมว รวมทั้งประเมินมวลกล้ามเนื้อ (MCS) ซึ่งมีความสำคัญในแมวที่เป็นโรคหัวใจ เนื่องจากอาจมีการพัฒนาของ cardiac cachexia ได้
.

ข้อควรพิจารณาด้านอาหารในการจัดการ HCM

Key nutrients 

1. sodium and Chloride 
แมวที่มีสุขภาพดีจะสามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังได้รับ แต่ในแมวที่เป็นโรคหัวใจระยะแรกจะมีความสามารถในการขับโซเดียมส่วนเกินลดลง ดังนั้น ระดับโซเดียมในอาหารสำหรับแมวที่เป็นโรคหัวใจจะมีค่าไม่เกินร้อยละ 0.3 DM และระดับคลอไรด์ที่แนะนำคือ 1.5 เท่าของระดับโซเดียม

2. Taurine 
ทอรีนจัดเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นสำหรับแมว การขาดทอรีนจะเกี่ยวข้องกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจล้มเหลว (myocardial failure) อย่างไรก็ตาม กลไกของภาวะหัวใจล้มเหลวในแมวที่ขาดทอรีนนั้นยังไม่ชัดเจน ทอรีนอาจมีส่วนใน free radical inactivation, osmoregulation และ calcium modulation ดังนั้น ปริมาณทอรีนขั้นต่ำในอาหารสำหรับแมวที่แนะนำคือ ร้อยละ 0.04 DM อาหารสำหรับแมวที่เป็นโรคหัวใจควรมีระดับทอรีนอย่างน้อยร้อยละ 0.3 DM และ supplement สำหรับแมวที่เป็นโรคหัวใจเท่ากับ 250 ถึง 500 mg taurine/day

3. Phosphorus 
แมวที่เป็นโรคหัวใจอาจพบว่ามีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย ซึ่งโรคไตนับเป็นหนึ่งในโรคที่พบได้บ่อยที่เกิดขึ้นพร้อมกับโรคหัวใจ ดังนั้น ปริมาณฟอสฟอรัสที่แนะนำในการจัดการทางโภชนาการสำหรับแมวที่เป็นโรคหัวใจคือ ร้อยละ 0.3 ถึง 0.7 DM

4. Potassium and Magnesium 
ในแมวที่เป็นโรคหัวใจอาจพบภาวะ hypokalemia, hyperkalemia และ hypomagnesemia ได้ ซึ่งความไม่สมดุลของโพแทสเซียมหรือแมกนีเซียมสามารถทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (cardiac dysrhythmias) ลดการหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (Lessen myocardial contractility) กล้ามเนื้ออ่อนแรง (muscle weakness) และอาจเกิดผลข้างเคียงจาก cardiac glycosides และยารักษาโรคหัวใจอื่นๆ ดังนั้น ปริมาณขั้นต่ำของโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสำหรับแมวที่เป็นโรคหัวใจ แนะนำอยู่ที่ร้อยละ 0.52 และ 0.04 DM ตามลำดับ

5. Protein 
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด Cardiac cachexia ในแมวที่เป็นโรคหัวใจ และอาจมีโรคไตเรื้อรังร่วมด้วย แมวควรได้รับอาหารที่มีพลังงานที่เพียงพอและมีโปรตีนคุณภาพสูงที่มีอัตราการย่อยได้สูง

6. Omega-3 Fatty acids 
มีรายงานพบว่า Omega-3 ใน fish oil มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง cytokine production ในสุนัขที่เป็น CHF และช่วยป้องกันภาวะ cachexia, กระตุ้นความอยากอาหาร, antiarrhythmic, กระตุ้นภูมิคุ้มกัน และช่วยลดการเกาะตัวของเกล็ด จากการสร้าง thromboxane B5 ที่เป็นประโยชน์ต่อแมวที่เป็นโรคหัวใจ ทั้งนี้ ก็มีข้อควรระวังในการใช้ omega-3 ในสัตว์ที่มีภาวะ coagulopathies ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม แต่ยังเชื่อว่า omega-3 มีประโยชน์สำหรับสัตว์ที่เป็นโรคหัวใจ โดยนักโภชนาการสัตวแพทย์ในปัจจุบันได้แนะนำปริมาณกรดไอโคซาเพนตะอีโนอิก (EPA) ที่ 40 mg/kg และกรดโดโคซาเฮกซาอีโนอิก (DHA) 25 mg/kg สำหรับสุนัขและแมว ในอาหารจะต้องมี EPA + DHA อยู่ระหว่าง 80 ถึง 150 mg/100 kcal และต้องพิจารณาขนาดของสัตว์เลี้ยงและปริมาณอาหารที่บริโภคร่วมด้วย เนื่องจาก ปริมาณและขนาดของ omega-3 ที่ใช้มีค่อนข้างกว้าง สัตวแพทย์จำเป็นต้องแนะนำถึงวิธีการใช้ที่เหมาะสม ผลข้างเคียงและระยะเวลาในการดูดซึมแก่เจ้าของให้เข้าใจ

7. Water
น้ำสามารถเป็นแหล่งสำคัญของโซเดียม คลอไรด์ และแร่ธาตุอื่นๆ สัตวแพทย์ควรทำความเข้าใจกับระดับแร่ธาตุในน้ำ ณ ท้องที่ของตนและแนะนำเจ้าของว่า สัตว์ควรได้รับน้ำที่สะอาดและสดใหม่เสมอ โดยอาจให้น้ำมีโซเดียมน้อยกว่า 150 ppm แก่แมวเป็นโรคหัวใจ

สรุป
HCM เป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยที่สุดในแมว ซึ่งเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการทางยาและโภชนาการ ดังนั้น สัตวแพทย์จำเป็นต้องสื่อสารกับเจ้าของถึงวิธีการรักษาเพื่อให้บรรลุผลที่ต้องการ รวมทั้งอธิบายเกี่ยวกับอาหาร บทบาทของสารอาหารที่จำเพาะ ขนม อาหารเสริม และการจัดการทางยาให้เจ้าของเข้าใจ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุดของคุณภาพชีวิตของแมวและเจ้าของ

ที่มา
https://todaysveterinarynurse.com/nutrition/feline-hypertrophic-cardiomyopathy-and-the-role-of-nutrition

 

วันที่โพส : 14 กันยายน 2566