Starting Strong: Puppy and Kitten Nutrition

Starting Strong: Puppy and Kitten Nutrition

โดยเฉลี่ยลูกสุนัขหรือลูกแมวจะเริ่มย้ายบ้านใหม่ในช่วงอายุระหว่าง 7 ถึง 9 สัปดาห์(หลังหย่านม) ในช่วงอายุต่อจากนี้ สัตวแพทย์จำเป็นต้องปรับสารอาหารพื้นฐานให้เหมาะสมเพื่อช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตและพัฒนาการของลูกสัตว์เหล่านี้ให้ตรงตามความต้องการทางโภชนาการของช่วงวัย

ลูกสุนัขและลูกแมวจะค่อยๆหย่านมจากแม่สัตว์แล้วเปลี่ยนไปเป็นอาหารสำหรับลูกสัตว์ ลูกสุนัขจะเริ่มหย่านมในช่วงอายุ 5 ถึง 7 สัปดาห์และลูกแมวในช่วง 6 ถึง 9 สัปดาห์ ซึ่งช่วงเวลาเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามมาจากการเริ่มมีฟันน้ำนม

ในช่วงอายุ 3 ถึง 6 เดือน นับว่าเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วที่สุดทั้งในสุนัขและแมว

อายุระหว่าง 9 ถึง 10 เดือน แมวและสุนัขขนาดเล็กถึงขนาดกลางจะเริ่มมีน้ำหนักตัวใกล้เคียงกับน้ำหนักช่วงตัวโตเต็มวัย

ช่วงอายุระหว่าง 9 ถึง 12 เดือน จะเป็นช่วงที่โครงสร้างกระดูกเจริญเติบโตเต็มที่ (Skeletal maturity)

สำหรับการเจริญเติบโตของสุนัขพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ยักษ์ (Large- and giant-breed dogs) จะยาวไปถึงอายุ 18 เดือน และจะมีโครงสร้างกระดูกเจริญเติบโตเต็มที่ระหว่างอายุ 18 ถึง 24 เดือน

 

การเลือกอาหารสำหรับลูกสัตว์ (Diet Selection)

ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปมักอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดของกรมปศุสัตว์ซึ่งใช้หลักเกณฑ์ด้านอาหารตามข้อกำหนดของทาง Association of Animal Feed Control Officials (AAFCO) โดยได้กำหนดคุณค่าทางโภชนาการอย่างเหมาะสม, กฎสำหรับการติดฉลากผลิตภัณฑ์และคำจำกัดความของส่วนผสม เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้ผลิตภัณฑ์อาหารมีความสมดุลทางโภชนาการ, หลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกี่ยวข้องกับการขาดสารอาหารและการได้รับปริมาณสารอาหารส่วนเกิน

สิ่งสำคัญของการเลือกอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงคือ อาหารต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์และปฏิบัติตามคำแนะนำของ AAFCO อยู่บนฉลากบรรจุภัณฑ์ของอาหารสัตว์เลี้ยงเชิงพาณิชย์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะระบุสถานะของสัตว์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ พร้อมทั้งยังได้รับการกำหนดสูตร, การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและการทดลองว่ามีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับความต้องการทางสารอาหารตามแต่ละช่วงสถานะของสัตว์ที่ระบุไว้โดย AAFCO

 

นอกเหนือจากคำชี้แจงของ AAFCO แล้ว สัตวแพทย์ควรประเมินอาหารและปริมาณสารอาหารแต่ละชนิดเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นเหมาะสมกับความต้องการของสัตว์เลี้ยงที่กำลังเติบโตมากที่สุด ปัจจัยทางโภชนาการสำคัญที่จำเป็นต้องพิจารณาในช่วงการเจริญเติบโตของลูกสัตว์ ได้แก่ พลังงาน, โปรตีน,แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, Omega-3 fatty acid Docosahexaenoic acid (DHA) และ Antioxidant

 

พลังงาน (Energy)

ในช่วง 4 เดือนแรกของพัฒนาการ ความต้องการทางพลังงานจะสูงกว่าช่วงโตเต็มวัยที่มีน้ำหนักตัวเท่ากันถึง 2 เท่า ความต้องการทางพลังงานนี้เรียกว่า ความต้องการทางพลังงานต่อวัน (Daily energy requirement) ดังตารางที่ 1 และจะค่อยๆ ลดลงหลังจาก 4 เดือนแรก เนื่องจากผลของการเมตาบอลิซึมภายในร่างกายและอาจจะลดลงอีกครั้งหลังจากการทำหมัน ภายหลังจากการทำหมัน ความต้องการทางพลังงานจำเป็นต้องลดลงอีกประมาณ 25% เนื่องจากอาจโน้มนำให้เกิดโรคอ้วนหลังทำหมันได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว วิธีที่ดีที่สุดคือ การคำนวณปริมาณความต้องการทางพลังงานของสัตว์รายตัวและติดตาม body condition score ของสัตว์ตลอดการเจริญเติบโต โดยสัตวแพทย์จำเป็นต้องอธิบายbody condition score ให้เจ้าของเข้าใจเพื่อป้องกันภาวะอ้วน (Aplastic obesity) และสามารถติดตามการเจริญเติบโตเกินขั้นสุด (maximum growth rates)

 

Aplastic obesity คือ ความอ้วนที่ไม่ได้เพิ่มแค่ปริมาณของไขมัน (adipose volume) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเพิ่มจำนวนของเซลล์ไขมัน (adipocytes) อีกด้วย มักเป็นโรคอ้วนที่พบในวัยเด็ก ซึ่งต่างจากโรคอ้วนทั่วไป (general obesity) ที่จะเพิ่มเพียง adipose volume เท่านั้น การลดน้ำหนักและการควบคุมน้ำหนักในสัตว์ที่เป็น aplastic obesity จะยากกว่าปกติ เนื่องจากมีเซลล์ไขมันจำนวนมาก เซลล์ไขมันจะพยายามกักเก็บไขมันเพิ่มเติมผ่านการผลิตฮอร์โมนที่กระตุ้นความอยากอาหาร ดังนั้นเพื่อป้องกันโรคaplastic obesity จึงแนะนำให้รักษาระดับ body condition score ไว้ที่ 4-5/9 โดยการหลีกเลี่ยงภาวะโภชนาการเกิน (overnutrition) เพื่อป้องกัน maximum growth rates ซึ่งการเติบโตในรูปแบบนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางกระดูกและพัฒนาการของลูกสัตว์ได้ แต่จะไม่ส่งผลต่อขนาดของลูกสุนัขสายพันธุ์ใหญ่และพันธุ์ยักษ์

เนื่องจากลูกสัตว์ในช่วงระหว่างการพัฒนาการมีความต้องการทางพลังงานสูง ฉะนั้นอาหารที่ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต จำเป็นต้องมีปริมาณไขมันในอาหารสูงกว่าอาหารสำหรับสัตว์โตเต็มวัย ไขมันในอาหารนอกจากจะมีกรดไขมันจำเป็นแล้วยังให้พลังงานต่อกรัมที่เผาผลาญได้ที่มากกว่าโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตถึงสองเท่า ไขมันในอาหารส่วนเกินจะถูกนำไปใช้เป็นพลังงานหรือเก็บเป็นพลังงานในรูปของไขมันหรือไกลโคเจน ค่าพลังงานของสารอาหารหลักแต่ละชนิด เช่น โปรตีน ไขมัน หรือคาร์โบไฮเดรต ดังผลดังตารางที่ 2 ดังนั้น การเพิ่มปริมาณไขมันในอาหารทำให้สามารถรับอาหารในปริมาณที่น้อยลงเพื่อเพียงพอต่อความต้องการทางพลังงานได้ แต่อาหารที่มีไขมันต่ำอาจไม่สามารถให้สารอาหารที่จำเป็นในปริมาณที่น้อยได้ ดังนั้น ความหนาแน่นของพลังงานในอาหารสำหรับช่วงการเจริญเติบโตของลูกสุนัขคือ 3,500 ถึง 4,500 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม และลูกแมวคือ 4,000 ถึง 5,000 กิโลแคลอรี่/กิโลกรัม

 

โปรตีน (Protein)

โปรตีนมีทั้งกรดอะมิโนที่จำเป็นและไม่จำเป็น ซึ่งมีบทบาททางด้านสรีรวิทยาและโครงสร้างของร่างกายโปรตีนจากอาหารจะเป็นโครงสร้างของเส้นขน, เล็บ, เอ็น, กระดูกอ่อนและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทด้านระบบภูมิคุ้มกัน โดยใช้ในการสร้าง immunoglobulins ต่อการผลิต antibodies ช่วยป้องกันการติดเชื้อหลังจากได้รับวัคซีนหรือจากธรรมชาติ ร่างกายจะทดแทนและซ่อมแซมโปรตีนเหล่านี้อย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการหมุนเวียนของโปรตีน (protein turnover)

ลูกแมวมีความต้องการโปรตีนและกรดอะมิโนที่จำเป็นสูงกว่าลูกสุนัข ปริมาณโปรตีนที่ลูกแมวควรได้รับคือ 30-36% เมื่อเทียบกับลูกสุนัขที่ 25-29% กรดอะมิโนจำเป็นสำหรับสุนัขมี 10 ชนิดและสำหรับแมวมี11 ชนิด (Taurine) โปรตีนในอาหารควรมาจากแหล่งโปรตีนคุณภาพสูงที่มีความสามารถในการย่อยได้สูง (>85% digestibility) โดยคุณภาพโปรตีนคือ ความสามารถของโปรตีนที่ให้กรดอะมิโนที่จำเป็นทั้งหมดแก่สัตว์ แหล่งโปรตีนคุณภาพสูงจะให้กรดอะมิโนที่จำเป็นทั้งหมด ในขณะที่แหล่งโปรตีนคุณภาพต่ำจะมีกรดอะมิโนจำเป็นบางชนิดอย่างจำกัด ซึ่งอาจจะต้องใช้แหล่งโปรตีนจากแหล่งอื่นเพื่อให้มีกรดอะมิโนที่จำเป็นทั้งหมด ความสามารถในการย่อยได้ของโปรตีน ในทางอ้อมสามารถวัดได้จากค่าไนโตรเจนในอาหารและการประเมินผลกระทบในระยะยาวจำเป็นต้องมีการทดลองจริงในสัตว์ (controlled feeding trial)

 

แคลเซียมและฟอสฟอรัส (Calcium and Phosphorus)

การดูดซึมแคลเซียมจะยังคงดำเนินต่อไปภายในลำไส้เล็กจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการดูดซึมแคลเซียมจากอาหารอย่างคงที่ที่ 70% การเสริมแคลเซียมจากผลิตภัณฑ์นม, กระดูกป่นอาหารเสริมอื่นๆอาจไม่เหมาะสม เพราะอาจส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและการสร้างโครงร่าง

ในทางกลับกัน การขาดแคลเซียมอาจเป็นผลมาจากการไม่ได้เสริมในอาหารปรุงเองที่บ้าน อาหารที่มีแต่เนื้อสัตว์ หรืออาหารคุณภาพต่ำที่มี phytates จากพืชสูง ซึ่งจะไปจับกับแคลเซียมและทำให้ไม่สามารถย่อยได้ การขาดแคลเซียมจะส่งผลให้เกิด nutritional hyperparathyroidism, โรคกระดูกพรุน(osteomalacia) และพยาธิวิทยาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

แคลเซียมและฟอสฟอรัสจำเป็นต้องให้ร่วมในอาหาร ในอัตราส่วน 1.1:1 ถึง 1.5:1 เพื่อการรักษาสมดุลของฮอร์โมนที่เหมาะสม การขาดฟอสฟอรัสมักพบได้น้อย แต่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเสริมแคลเซียมมากเกินไปซึ่งจะส่งผลให้เกิด growth plates กว้างขึ้นและโรคกระดูกอ่อนจากภาวะฟอสฟอรัสต่ำ(hypophosphatemic rickets)

 

Docosahexaenoic acid (DHA)

DHA (Omega-3) เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนสายยาวที่จำเป็น ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาของจอประสาทตา (retina), ระบบประสาทและการได้ยิน นอกจากนี้ DHA ยังมีส่วนช่วยในการฝึกฝนและการเรียนรู้ของลูกสุนัขอีกด้วย ปริมาณของ DHA ที่ควรได้รับในลูกสุนัขคือ ≥0.02% และในลูกแมวที่≥0.004% ในร้อยละของวัตถุแห้ง แม้ว่า DHA จะเป็น omega-3 แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกแหล่งของ omega-3 จะมี DHA ในระดับที่เหมาะสม อาหารเสริมจากปลาทะเลถือเป็นแหล่งที่เหมาะสมของ DHA และ EPA (eicosanoic pantothenic acid) แต่ใน flaxseed จะไม่มี DHA และ EPA ในรูปแบบที่แมวและสุนัขสามารถใช้ได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการให้ cod liver oil ที่เป็นแหล่งของ omega-3 เนื่องจากผลิตภัณฑ์นี้มักมีวิตามิน A และ D ที่ละลายในไขมันสูงและอาจทำให้เกิดความเป็นพิษได้

 

สารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants)

จากการศึกษาประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระในลูกสุนัข พบว่า วิตามิน A และ C, β-carotene, lutein, zinc และ selenium มีผลดีต่อระบบภูมิคุ้มกันในช่วงระหว่างการเจริญเติบโต ซึ่งจะทำให้มีจำนวนเซลล์ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น, มีการตอบสนองของ antibody หลังจากทำวัคซีนได้ดีขึ้นและมีผลทางกลไกการป้องกันเซลล์ที่ไม่จำเพาะเจาะจง โดยสารต้านอนุมูลอิสระนี้จะช่วยรักษาการไหลของเยื่อหุ้มเซลล์ (cell membrane fluidity) และช่วยป้องกันการเกิด free radicals ที่สร้างโดยเซลล์ภูมิคุ้มกันในขณะที่ทำงานตามปกติได้

 

การเปลี่ยนอาหารและความถี่ในการให้อาหาร

เราไม่ควรเปลี่ยนอาหารในวันแรกเมื่อลูกสัตว์กำลังเปลี่ยนสภาพสิ่งแวดล้อมใหม่ การเปลี่ยนอาหารควรดำเนินการอย่างค่อยๆเป็นค่อยๆไป ควรเริ่มอาหารใหม่ทีละน้อย โดยค่อยๆเพิ่มหนึ่งในสี่ (25%) ของปริมาณที่ให้กินในแต่ละวันเป็นระยะเวลา 1-3 วันและลดอาหารเดิมออกพร้อมกันทีละน้อย ซึ่งการปรับเปลี่ยนอาหารนี้จะช่วยลดปัญหาอาจเกิดขึ้นภายในทางเดินอาหารและช่วยเพิ่มการยอมรับอาหารได้

การพูดคุยเรื่องการจัดการอาหารสำหรับสัตว์ระหว่างคนในครอบครัวถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องทำความเข้าใจถึงความถี่ของการให้อาหารด้วย การให้อาหารแบบจำกัด (restricted feeding) สำหรับลูกสุนัขหลังหย่านม ควรกำหนดไว้ที่ 2-4 มื้อต่อวัน เพื่อช่วยรักษาสภาพร่างกายให้แข็งแรง และในสุนัขสายพันธุ์เล็ก (small, toy, หรือ teacup breeds) อาจจำเป็นต้องให้ถึง 3-4 มื้อต่อวันจนถึงอายุ 3 เดือนเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)

การให้อาหารแบบมีให้ตลอดเวลา (free-choice feeding) เป็นวิธีที่แนะนำสำหรับลูกแมว ซึ่งสามารถให้ได้จนถึงอายุ 5 เดือน แล้วเมื่ออายุ 6 เดือนค่อยลดลงเหลือ 3-4 มื้อต่อวัน จนเมื่อโตเต็มวัยแล้วอาจลดการให้อาหารเหลือ 2 ครั้งต่อวัน นอกจากนี้ การให้อาหารที่มีไขมันสูง, การมีอาหารให้ตลอดเวลาและเลี้ยงภายในบ้าน (indoor living) จะไม่แนะนำให้กับสัตว์ที่ทำหมันแล้ว เนื่องจากวิธีดังกล่าวนี้จะส่งผลต่อการเกิดโรคอ้วน และการให้อาหารแมวแบบที่ให้กินเต็มที่ (ad libitum) แมวควรระวังภาวะน้ำหนักเกินฉะนั้นควรปรับปริมาณการให้อาหารตามความจำเป็นเพื่อรักษา body condition scores ให้สมส่วน

สัตวแพทย์สามารถให้คำแนะนำการให้อาหารแก่แมวทีละตัวดังที่กล่าวข้างต้นแก่เจ้าของที่เลี้ยงแมวหลายตัวได้ เพื่ออาจค่อยๆปรับวิธีการให้อาหาร ซึ่งต่อไปจะสามารถควบคุมปริมาณและประเภทของอาหารที่ให้กับสัตว์ได้มากขึ้น ระบบการให้อาหารรายตัวจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกแมวไปกินอาหารสูตรสำหรับแมวโต อาหารบางอย่างสำหรับลูกแมวอาจมีกรดที่มากเกินไป อาจส่งผลต่อแร่ธาตุในกระดูกได้

 

บทสรุป

การจัดการทางด้านอาหารมีความสำคัญยิ่งต่อสุขภาพและอายุขัยของตัวสัตว์ รวมถึงช่วยป้องกันปัญหาทางด้านระบบโครงร่างในภายหลังได้ สัตวแพทย์ควรเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้อาหารที่ถูกต้องทุกครั้ง โดยการให้ข้อมูลแก่เจ้าของในรูปแบบต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจที่ถูกต้องสำหรับความเป็นอยู่ที่ดีของสัตว์เลี้ยง

ที่มา https://todaysveterinarynurse.com/nutrition/puppy-and-kitten-nutrition/?fbclid=IwAR0dRCE3Dmc_9H1kihHIWopzNA6SpV7v3og43QZ5SCRnO4QGTQ8MckviiRM&mibextid=Zxz2cZ

วันที่โพส : 14 กันยายน 2566