การจัดการทางโภชนาการในสัตว์ป่วยวิกฤตและหลังการผ่าตัด

Nutritional Management in illness and surgery patients 
การจัดการทางโภชนาการที่ดีและถูกต้องถือว่ามีความสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้สัตว์ป่วยฟื้นฟูร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Physiological change after surgery and illnesses 

1. Metabolic changes (Hypometabolism vs Hypermetabolism 
กระบวนการเมแทบอลิซึมที่เกิดขึ้นหลังผ่าตัดหรือเจ็บป่วยสามารถแบ่งออกได้เป็นสองช่วง คือ ช่วงแรกจะเกิดขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมงเรียกว่า Hypo-metabolism phase ในช่วงนี้สัตว์ป่วยจะจัดสรรพลังงานที่มีน้อยลงให้กับอวัยวะที่สำคัญเป็นหลักพร้อมกับลดกระบวนการเมแทบอลิซึมที่ไม่จำเป็นลง ช่วงที่สองเรียกว่า Hyper-metabolism phase เป็นช่วงที่จะซ่อมแซมฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมให้สัตว์ป่วยกลับมากินอาหารโดยเร็วที่สุดเพื่อให้ได้รับพลังงานและสารอาหารเป็นสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูร่างกาย

2. Bacterial translocation 
กระบวนการผ่าตัดและเจ็บป่วยมีการอักเสบ การติดเชื้อ และการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะที่ส่งผลให้เซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารขาดคุณสมบัติที่จะป้องกันไม่ให้แบคทีเรียในทางเดินอาหารเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและกระแสเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะการติดเชื้อในร่างกาย เรียกภาวะดังกล่าวว่า Bacterial translocation ดังนั้นจึงควรให้สัตว์ป่วยหรือหลังผ่าตัดกลับมากินอาหารโดยเร็วที่สุด

3. Decreased appetite 
ในสัตว์ป่วยมักเบื่ออาหารจากภาวะของโรคส่งผลให้กินได้น้อยลง วิธีการแก้ไขที่ตรงจุดที่สุดคือการรักษาสาเหตุของโรคและการทำสูตรอาหารที่มีความน่ากินสูงก็จะช่วยเพิ่มความอยากอาหารด้วย

Key Nutritional Factors in illness and surgery patients 
(ปัจจัยทางโภชนาการที่เหมาะสมในช่วงพักฟื้นและหลังผ่าตัด )

1. ไขมันสูงและคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยได้ต่ำ
แหล่งพลังงานหลักของอาหารช่วงพักฟื้นจะเลือกใช้ไขมันเพราะมีความหนาแน่นของพลังงานสูงทำให้สัตว์ไม่ต้องกินอาหารในปริมาณมาก นอกจากนี้แหล่งไขมันที่มี Omega 3 ในรูปของ EPA และ DHA ยังช่วยลดการอักเสบและลดปวด

2. โปรตีนสูงและกรดอะมิโนเพียงพอ
อาหารที่มีโปรตีนสูงช่วยส่งเสริมให้ร่างกายมีโปรตีนเพียงพอที่จะไม่สลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อโดยกรดอะมิโนที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่วยพักฟื้นคือ อาร์จินีน กลูตามีน และทอรีน โดยอาร์จินีนเกี่ยวข้องกับการหายของแผล การรักษาสมดุลไนโตรเจน ส่วนกลูตามีนถูกใช้เป็นแหล่งพลังงานหลักของเซลล์เยื่อบุลำไส้และทอรีนช่วยให้สัตว์มีสุขภาพดีและส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน

3. ความน่ากินของอาหาร
เนื่องจากสัตว์ป่วยมีความอยากอาหารลดลง ดังนั้นการส่งเสริมความน่ากินของอาหารด้วยการใช้แหล่งวัตถุดิบจากเนื้อสัตว์คุณภาพสูงจะช่วยเพิ่มความน่ากินของอาหาร

4. อัตราการย่อยได้สูง
อาหารสัตว์ป่วยควรย่อยและดูดซึมได้ง่ายเพราะสัตว์จะได้รับพลังงานและสารอาหารที่สามารถนำไปใช้ได้ในระยะพักฟื้นโดยไม่ต้องเสียพลังงานไปกับกระบวนการขับของเสีย
.

การคำนวณปริมาณอาหาร

ปริมาณอาหารที่ให้มีความสำคัญต่อการป้องกัน Refeeding syndrome และเพื่อให้สัตว์ได้รับพลังงานเพียงพอต่อความต้องการ ในสัตว์พักฟื้นจะใช้ที่ 1 เท่าของ RER(Resting energy requirement) เนื่องจากสัตว์ป่วยไม่มีกิจกรรม ในวันแรกให้อาหารเพียง 1/3 RER แล้วเพิ่มเป็น 2/3 RER ในวันที่ 2 และให้ที่ 1 RER ในวันที่ 3 เพื่อป้องกัน Refeeding syndrome ซึ่งแนะนำให้อาหารวันละ 2 มื้อหรือมากกว่านั้นตามขนาดของกระเพาะที่สามารถบรรจุอาหารได้
.

บทความโดย

รศ. น.สพ. ดร. อรรถวิทย์ โกวิทวที
อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ้างอิงข้อมูล

1. Mazzaferro, E., 2015. Nutritional Support of the Critical Patient. 40th World Small Animal Veterinary Association World Congress. May 15-18, 2015, Bangkok, Thailand.
2. Corbee, R.J., & Van Kerkhoven, W.J., 2014. Nutritional support of dogs and cats after surgery or illness. Open Journal of Veterinary Medicine: 4, 44-57.
3. Hand, M.S., Thatcher, C.D., Remillard, R.L., Roudebush, P. & Novotny, B.J., 2011. Small Animal Clinical Nutrition. 5th Edition, Mark Morris Institute.

 

วันที่โพส : 25 สิงหาคม 2566