สารอาหารที่ต้องพิจารณาในสัตว์ป่วยโรคมะเร็ง

Feeding the Cancer Patient

การจัดการด้านโภชนาการของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งควรมีความเฉพาะเจาะจงในสัตว์ป่วยแต่ละตัวโดยพิจารณาจากการประเมินทางภาวะโภชนาการอย่างต่อเนื่อง การจัดการด้านโภชนาการนี้อาจส่งผลต่อระยะเวลาการหาย (remission time) ระยะเวลาการรอดชีวิต (survival time) และคุณภาพชีวิต(quality of life) ของสัตว์ป่วย นอกจากนี้ ยังสามารถทำให้สัตว์ป่วยรู้สึกดีขึ้นด้วยการให้เจ้าของเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงของตน สัตวแพทย์จำเป็นต้องทำความเข้าใจและแนะนำถึงแผนการรักษาสัตว์ป่วยโรคมะเร็งกับเจ้าของให้เข้าใจและยอมรับได้อย่างถูกต้อง

 

Take-Home Points

1. โรคมะเร็งจัดเป็นโรคทางพยาธิวิทยาที่ร้ายแรงที่สุด (most common deadly pathological process) ที่ร้อยละ 90 ในสุนัข

2. สัตวแพทย์ควรเข้าใจถึงความต้องการทางโภชนาการในสัตว์ป่วยมะเร็ง รวมทั้งสารอาหารที่จำเป็นต้องพิจารณาในการจัดการกับโรคมะเร็ง

3. เจ้าของสัตว์ป่วยควรมีส่วนร่วมในการจัดการด้านโภชนาการของสัตว์ป่วยด้วยโรคมะเร็งของตน

4. สัตวแพทย์ควรประเมินภาวะโภชนาการในสัตว์ป่วยโรคมะเร็งทุกตัว

5. ควรมีการระบุการเปลี่ยนแปลงทางเมตาบอลิซึมของไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตในสัตว์ป่วยมะเร็ง

6. การจัดการด้านโภชนาการอาจส่งผลต่อระยะเวลาการหาย การรอดชีวิต และคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วย

7. เป้าหมายหลักของการรักษาสัตว์ป่วยโรคมะเร็งคือ การรักษาน้ำหนัก

8. ระบุคำแนะนำทางโภชนาการที่เฉพาะเจาะจงสำหรับสัตว์ป่วยมะเร็งแต่ละตัว โดยขึ้นอยู่กับการประเมินทางโภชนาการของสัตว์ป่วยนั้นอย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็งในสุนัขและแมวยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแนวทางการรักษาและการดูแล ประคับประคองทางสัตวแพทย์ก็มีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การติดตามทางโภชนาการในสัตว์ป่วยโรคมะเร็งทางสัตวแพทย์ยังมีไม่เพียงพอ โดยคำแนะนำส่วนใหญ่มุ่งไปที่การจัดการกับภาวะanorexia หรือ cachexia ในปัจจุบันยังไม่มีการทดลองถึงผลกระทบของสารอาหารต่อสุนัขที่ป่วยเป็นมะเร็งหรืออยู่ในช่วงระหว่างการรักษา ยกเว้นการศึกษาในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสุนัข แม้ว่าอาจจะยังไม่มีการวิจัยหรือข้อมูลทางวิชาการที่พอเพียง เจ้าของมักต้องการข้อมูลเกี่ยวกับอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงของตน ซึ่งส่วนใหญ่มักหาคำตอบจากสื่อทางอินเตอร์เนต ดังนั้น เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้และเป็นคำแนะนำสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง สัตวแพทย์ควรทำความเข้าใจกับความต้องการทางโภชนาการในสัตว์ป่วยโรคมะเร็งและสารอาหารที่ต้องพิจารณาเมื่อต้องการจัดการกับโรคมะเร็ง ดังนี้

 

การประเมินภาวะโภชนาการ (Nutritional Assessment)

ประเมินภาวะโภชนาการของสัตว์ป่วยในแต่ละตัว ดังนี้

1. ประเภทของอาหาร

2. ปริมาณอาหารที่ให้

3. วิธีการให้อาหาร

4. ความอยากอาหารของสัตว์ป่วย

5. ทัศนคติของเจ้าของสัตว์ที่มีต่อการจัดการทางโภชนาการของสัตว์ป่วยในปัจจุบัน

สัตวแพทย์ควรใช้คำถามปลายเปิดในระหว่างการประเมิน เพื่อเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากกว่าคำตอบ ว่าใช่หรือไม่ สิ่งสำคัญในการจัดการสัตว์ป่วยโรคมะเร็งคือ การประเมินน้ำหนักร่างกายปัจจุบันและอดีต (body weights) คะแนนสภาพร่างกาย (body condition score) และคะแนนสภาพกล้ามเนื้อ (muscle condition score) โดยตัวชี้วัดเหล่านี้จะช่วยระบุถึงการได้รับสารอาหารที่เพียงพอหรือไม่ จากการประเมินภาวะโภชนาการในมนุษย์พบว่า ร้อยละ 40-80 ของผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งประสบกับภาวะทุพโภชนาการในระดับต่างๆ ขึ้นอยู่กับชนิดของเนื้องอก ตำแหน่ง ระยะ และแผนการรักษา เช่นเดียวกับสัตว์ป่วยโรคมะเร็งทางสัตวแพทย์ ดังนั้นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินภาวะทางโภชนาการ

 

สารอาหารที่จำเป็นต้องพิจารณาในการจัดการโรคมะเร็ง (Nutrients to Consider in Cancer Management)

สัตวแพทย์จำเป็นต้องพิจารณาถึงปริมาณแคลอรี่ที่ควรได้รับและสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วน เป้าหมายหลักของการรักษาสัตว์ป่วยโรคมะเร็งคือ การรักษาน้ำหนักตัว ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารกับเจ้าของสัตว์ที่จะต้องให้ขนมหรืออาหารปริมาณมากขึ้นในภายหลังที่ตรวจพบว่าสัตว์เป็นมะเร็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของสามารถทำได้เพื่อช่วยให้สัตว์เลี้ยงรู้สึกดีขึ้น อย่างไรก็ตาม วิธีปฏิบัตินี้อาจส่งผลให้สัตว์เลี้ยงมีน้ำหนักเกิน ส่งผลให้อาการของโรคมะเร็งแย่ลงได้ สัตวแพทย์ต้องเน้นย้ำถึงความสำคัญของสารอาหารที่จำเพาะแก่เจ้าของสัตว์และสามารถอธิบายถึงความไม่สมดุลของสารอาหารจากการเติมเนื้อสัตว์และ/หรืออาหารอื่นๆ ลงในอาหารปกติของสัตว์ป่วย รวมทั้งการทำอาหารปรุงเอง ว่าจะโน้มนำไปสู่การขาดสารอาหารได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ยากในการจัดการสัตว์ป่วยเป็นมะเร็ง

คำแนะนำทางด้านโภชนาการควรมีความเฉพาะเจาะจงสำหรับสัตว์ป่วยด้วยโรคมะเร็งในแต่ละตัวและขึ้นอยู่กับการประเมินภาวะโภชนาการของสัตว์ป่วยรายนั้นๆด้วย สัตวแพทย์ควรประเมินและพัฒนาแผนการรักษา รวมทั้งแผนการจัดการทางโภชนาการอย่างจำเพาะในสัตว์ป่วยแต่ละรายเพื่อนำมาใช้ติดตามการรักษาและอาจเปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น

 

คาร์โบไฮเดรตที่ละลายน้ำได้และเยื่อใย (Soluble Carbohydrates and Fiber)

ปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่ละลายน้ำได้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งในอดีตได้แนะนำว่าควรน้อยกว่า 25 ในร้อยละของวัตถุแห้ง เนื่องจากคาร์โบไฮเดรตที่ละลายน้ำได้อาจนำไปใช้ได้ไม่ดีในสัตว์ที่เป็นมะเร็ง กระบวนการเมแทบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรตของเนื้องอกและมะเร็งก่อให้เกิดการผลิตกรดแลคติคที่เพิ่มขึ้น จากคำแนะนำล่าสุด ควรให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำหรือไม่มีคาร์โบไฮเดรต เพื่อให้เซลล์มะเร็งอดอาหารจากงานวิจัยในปี 1920 พบว่า แม้ในสภาวะที่มีออกซิเจน มะเร็งจะมีอัตราการดูดซึมกลูโคสและการผลิตแลคเตทที่สูงผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อเยื่อปกติ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่าเซลล์มะเร็งบางชนิดมีความยืดหยุ่นในการเผาผลาญสารอาหาร เซลล์จะปรับการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตไขมัน และโปรตีนตามความพร้อมของสารอาหาร สภาพแวดล้อมของเนื้องอกและแผนการรักษามะเร็ง ซึ่งความสามารถในการปรับตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญในการเฝ้าติดตามและปรับแผนโภชนาการสำหรับสัตว์ป่วยมะเร็งแต่ละราย

นอกจากนี้ เยื่อใยที่ละลายน้ำได้และไม่ละลายน้ำมีความสำคัญต่อการช่วยรักษาสุขภาพของลำไส้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่ได้รับเคมีบำบัด รังสีบำบัด หรือการผ่าตัด เยื่อใยอาหารที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยป้องกันและปรับปรุงคุณภาพของอุจจาระที่ผิดปกติ (เช่น อุจจาระนิ่มหรือท้องเสีย) ที่อาจพบได้จากการเปลี่ยนจากอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงไปเป็นอาหารที่มีไขมันสูงหรืออาหาร home-made

 

โปรตีน (Protein)

สัตว์ป่วยที่เป็นมะเร็งจะมีการเผาผลาญโปรตีนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ (cachexia) ดังนั้นโปรตีนในอาหารควรเป็นโปรตีนที่ย่อยได้สูงและมากกว่าปริมาณปกติของสัตว์โตเต็มวัย

 

กรดอะมิโนจำเป็นในสัตว์ป่วยโรคมะเร็งและเนื้องอกได้แก่

Arginine เป็นกรดอะมิโนจำเป็นสำหรับสัตว์ที่ป่วยเป็นมะเร็ง ยังไม่มีรายงานถึงปริมาณต่ำที่สุดที่มีประสิทธิภาพของ arginine ในอาหารสำหรับสัตว์ที่เป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณ arginine ใน plasma กับอัตราการรอดชีวิตในสุนัขที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ได้รับเคมีบำบัดพบว่า ปริมาณ arginine ที่เหมาะสมควรมากกว่า 2.5 ในร้อยละของวัตถุแห้ง นอกจากนี้ ยังพบว่าarginine สามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทั้งสุนัขและแมวที่ป่วยเป็นมะเร็ง ส่งเสริมการหายของแผล และยับยั้งการสร้างเนื้องอก ในแมวควรได้รับอาหารที่มี arginine ในระดับที่ใกล้เคียงกับสุนัข ( >2 ในร้อยละของวัตถุแห้ง) และ l- arginine สามารถให้เป็นอาหารเสริมหรือมีในอาหารที่มีโปรตีนคุณภาพดีในระดับสูง

 

Glutamine มีบทบาททางชีวเคมีที่สำคัญหลายประการและเป็นแหล่งพลังงานที่จำเป็นสำหรับเซลล์ที่มีการหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว เช่น lymphocytes เซลล์ลำไส้ และเซลล์มะเร็ง โดยได้รับการยอมรับว่า เป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นตามเงื่อนไขทางสรีรวิทยาบางอย่าง รวมถึงความเครียด โดยมะเร็งจะทำให้สรีรวิทยาเกิดความเครียด นอกจากนี้ Glutamine ยังมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพในการลดน้ำหนักตัวปรับปรุงการเผาผลาญโปรตีน ปรับปรุงการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน และปรับปรุงการทำงานของbarrier function ในทางเดินอาหารของสัตว์ทดลองและการทดลองทางคลินิกในมนุษย์ Glutamine มักพบในอาหารที่มีคุณภาพดีและมีโปรตีนสูง

 

ไขมันและกรดไขมัน omega-3 (Fat and Omega-3 Fatty Acids)

กรดไขมัน omega-3 มีบทบาทในการป้องกันและบำบัดรักษาโรคมะเร็ง จากหลักฐานทางระบาดวิทยาได้สนับสนุนการใช้กรดไขมัน omega-3 ในผู้ป่วยโรคมะเร็งในมนุษย์ โดยในมนุษย์ที่บริโภคกรดไขมันomega-3 ในปริมาณสูงจะพบว่ามีอัตราการเกิดมะเร็งต่ำ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า omega-3 ช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม กรดไขมัน omega-3 จะเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเซลล์เนื้องอก เพิ่มความไวของเนื้องอกต่อความเครียดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นและลดการผลิต tumor necrosis factor-α นอกจากนี้ การได้รับกรดไขมัน omega-3 ในปริมาณสูงยังมีประโยชน์ทางคลินิก รวมถึงลดการเกิดเนื้องอก การเจริญเติบโตของเนื้องอก และการแพร่กระจายของเนื้องอก (metastasis) จากการศึกษาในมนุษย์พบว่า การให้กรดไขมัน omega-3 ร่วมกับ arginine จะมีประสิทธิภาพทางคลินิก โดยจะเพิ่มระยะเวลาการอยู่รอด ระยะเวลากลับมาเป็นซ้ำนานขึ้น และช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

 

การรักษาด้วยโภชนาการสามารถส่งผลต่อระยะเวลาการหาย ระยะเวลารอดชีวิต และคุณภาพชีวิตของสัตว์ป่วยมะเร็ง สัตวแพทย์ต้องทำความเข้าใจกับเจ้าของสัตว์เลี้ยงและเจ้าของต้องยอมรับในคำแนะนำและแผนการรักษา การจัดการทางโภชนาการ จัดเป็นการรักษาอย่างหนึ่งที่สามารถเสนอให้กับเจ้าของสัตว์ป่วยเพื่อให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการรักษาและช่วยให้สัตว์เลี้ยงของพวกเขามีชีวิตที่ยืนยาวมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้และสุขภาพโดยรวมดีขึ้น

 

ที่มา
https://todaysveterinarynurse.com/nutrition/feeding-the-cancer-patient 

วันที่โพส : 25 สิงหาคม 2566